ในโลกของการถ่ายภาพ ช่างภาพแต่ละคนล้วนมีวิธีการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพถ่ายในแบบฉบับของตนเอง บ้างมุ่งเน้นไปที่คอนเซ็ปต์ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ผลงาน บ้างเสาะแสวงหาความหมายผ่านภาพถ่ายแนวสตรีท หรือบ้างอาจถ่ายทอดความงดงามทางสุนทรียศาสตร์ แต่สำหรับ ศิรวิทย์ คุววัฒนานนท์ การถ่ายภาพคือการตามหาความสัมพันธ์ระหว่างกาลเวลา สถานที่ และผู้คน โดยปราศจากการปรุงแต่งใดๆ
เริ่มต้นจากการถ่ายภาพเพื่อประกอบเป็นสื่อการสอนของตนเอง สู่การถ่ายภาพที่เป็นงานอดิเรก ศิรวิทย์ มักเลือกบันทึกภาพถ่ายตามความเป็นจริง ณ ขณะนั้น ราวกับว่าตนเองกำลังรับรู้ถึงการดำเนินไปของโลกโดยไม่ต้องจัดฉากใดๆ เขาไม่เพียงแต่ถ่ายทอดมุมมองผ่านภาพถ่ายเท่านั้น แต่ยังนำความรู้จากการเป็นติวเตอร์ฟิสิกส์มาสะท้อนถึงความงามของธรรมชาติ ผลงานของศิรวิทย์จึงเป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างโลกแห่งภาพถ่ายและวิทยาศาสตร์ผ่านสายตาของศิลปินเอง
เช่นเดียวกับผลงานล่าสุดของศิรวิทย์ในนิทรรศการ Transformation Theory ณ West Eden Gallery ที่ได้นำเสนอเอกลักษณ์และแนวคิดของเขาผ่านการผสมผสานระหว่างศิลปะภาพถ่ายและวิทยาศาสตร์อย่างลงตัว นิทรรศการนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากทฤษฎีกฎข้อที่ 2 ของเทอร์โมไดนามิกส์ซึ่งกล่าวว่า “ยิ่งเราพยายามมากเท่าไหร่ ผลลัพธ์ยิ่งคาดเดาไม่ได้ยิ่งขึ้น”
โดยภายในนิทรรศการ ศิรวิทย์ได้นำเสนอสองสถานที่ที่สะท้อนมุมมองอันตรงกันข้ามอย่างจังหวัดเชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร สถานที่แห่งแรกยังคงยึดติดอยู่กับความงดงามในอดีต มอบความเชื่อมั่นว่าหากเราพยายามเหนี่ยวรั้งมันไว้ ความงดงามนี้จะยังคงอยู่ต่อไปได้ แต่ในขณะเดียวกัน เมืองกรุงเทพกลับเป็นภาพแทนของการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลง มองว่าการทำลายเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่เป็นกระบวนการตามธรรมชาติของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้งสองสถานที่นี้จะสะท้อนความเชื่อและแนวทางที่แตกต่างกัน แต่กลับมีปลายทางอันคล้ายคลึงกัน นั่นคือการเดินหน้าสู่อนาคตที่ไร้ความแน่นอน
เริ่มด้วยฝั่งภาพถ่ายจากจังหวัดเชียงใหม่ ศิรวิทย์ได้นำเสนอแนวคิดของการพยายามรักษาบางอย่างผ่านภาพของ “กาดสวนแก้ว” ห้างสรรพสินค้าใหญ่ใจกลางเมืองที่ไม่ว่าชาวเชียงใหม่คนไหนก็คงรู้จัก และยังเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ความเจริญเริ่มเข้ามาเรื่อยๆ ผู้คนจากที่เยอะก็ทยอยน้อยลง อีกทั้งผู้ก่อตั้งห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ก็เป็นเพียงประชาชนคนธรรมดา และถึงแม้ว่าจะพยายามรักษาไว้มากเพียงใดก็ตาม สุดท้ายก็ถึงคราวต้องปล่อยให้ปิดตัวลง เหลือไว้เพียงแค่อนุสรณ์ของอดีตที่เคยงดงาม
ขณะที่กาดสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำเสนอแนวคิดที่ให้คุณค่าต่ออดีตอันงดงาม อีกหนึ่งสถานที่กลับสะท้อนมุมมองที่แตกต่างออกไป ในยุคที่โลกพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทั้งผู้คน สิ่งของ และสถานที่ล้วนต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะยอมสละบางสิ่งเพื่อเปิดทางให้สิ่งใหม่ที่ดีกว่า แม้ว่าจะเป็นสถานที่ที่มีคุณค่าทางจิตใจกับหลายคนก็ตาม
ศิรวิทย์ได้หยิบยก ‘สยาม’ สถานที่ใจกลางกรุงเทพฯ มาเป็นสัญลักษณ์เพื่อถ่ายทอดแนวคิดเหล่านี้ ทั้งอาคารบ้านเรือนที่มีการก่อสร้างอยู่ตลอดเวลา และอาคารใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดว่ามนุษย์ต้องก้าวไปข้างหน้า เพื่ออนาคตในอุดมคติของเรา
หนึ่งในสัญลักษณ์ของการก้าวไปข้างหน้าและทิ้งอดีตไว้เบื้องหลัง คงหนีไม่พ้นโรงภาพยนตร์ ‘สกาลา’ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ไม่เพียงอยู่คู่กรุงเทพฯ มากว่า 50 ปี แต่ยังสะท้อนความงดงามของสถาปัตยกรรมและยังอุดมไปด้วยประวัติศาสตร์ จนกลายเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำสำหรับใครหลายคน อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมและเมืองต้องก้าวไปข้างหน้าเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง บางสิ่งบางอย่างก็ต้องถูกทุบทิ้ง รื้อถอน และปล่อยให้กลายเป็นเพียงร่องรอยแห่งอดีตในความทรงจำ
นิทรรศการ Transformation Theory ได้นำเสนอความแตกต่างระหว่างแนวคิดดังกล่าว ผ่านภาพถ่ายของสองสถานที่ โดยถ่ายภาพสองช่วงเวลาซ้อนทับกัน สะท้อนความเชื่อมโยงและความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เคยมีอยู่และสิ่งที่คงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ภายในนิทรรศการยังมีผลงานรูบิคตั้งอยู่ข้างๆ ที่แต่ละด้านได้พิมพ์ภาพถ่ายเอาไว้ โดยเชื้อเชิญผู้ชมหยิบมาเล่น จัดเรียง และประกอบภาพถ่ายขึ้นมาใหม่ ด้วยความตั้งใจของศิลปินที่จะสื่อว่า การพยายามทำให้รูบิคกลับมาเป็นภาพเดิมนั้นไม่ต่างจากความพยายามของมนุษย์ที่ต้องการควบคุมอนาคต ซึ่งในทุกขั้นตอนจะต้องแลกมาด้วยการสละบางสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเวลา แรงกาย หรือแม้แต่ความคิดของเรา
อีกมุมหนึ่งของนิทรรศการนี้ได้มีการนำเสนอภาพที่บันทึกไว้โดยศิลปินในวันสุดท้ายก่อนที่ ‘คริสตจักรจีน’ หรือ ‘ โบสถ์จีนสามย่าน’ จะปิดตัวลงและย้ายไปยังสถานที่ใหม่ โดยตัวภาพได้ถูกจัดวางคู่กับจิ๊กซอว์ภาพถ่ายที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ร่วมสนุกโดยการหยิบจับและประกอบเป็นชิ้น ๆ ตามใจชอบ ศิรวิทย์อธิบายถึงเหตุผลที่เลือกนำโบสถ์แห่งนี้มาจัดแสดงระหว่างกาดสวนแก้วและสยามว่า สถานที่นี้เป็นเหมือนจุดกึ่งกลางของแนวคิดระหว่างการพยายามรักษาอดีตไว้และการก้าวไปข้างหน้า เพราะโบสถ์นั้นมองว่าคุณค่าของสถานที่ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในตัวอาคาร แต่เป็นเจตจำนงและเป้าหมายที่คงอยู่ต่างหาก
ภาพถ่ายโดย: ปรีชา ภัทรอัมพรชัย