4 ข้อควรรู้ในตลาดศิลปะ

November 22, 2024
4 ข้อควรรู้ในตลาดศิลปะ

การก้าวเข้าสู่โลกของศิลปะอาจดูน่ากลัวสำหรับผู้ที่เริ่มต้น ทั้งความเรียบง่ายและสะอาดตาของกำแพงสีขาว พนักงานที่บางทีอาจดูเคร่งขรึม และการไม่เปิดเผยราคาของชิ้นงานศิลปะอาจทำให้หลายคนลังเล บวกกับเรื่องเล่าที่ว่านักสะสมบางคนต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล อีกทั้งต้องจัดงานใหญ่โต เพียงเพื่อให้ได้สิทธิ์เข้าถึงงานศิลปะที่ “ใช่สำหรับเรา”


แต่แท้จริงแล้ว โลกของแกลเลอรี่ศิลปะไม่ได้ซับซ้อนหรือห่างไกลอย่างที่ใครหลายคนคิด เจ้าของแกลเลอรี่ส่วนใหญ่เพียงแค่ต้องการทำงานร่วมกับนักสะสมที่มีความสนใจจริงใจในศิลปะและเคารพในตัวศิลปิน ทั้งนี้ แน่นอนว่าความสามารถในการซื้อก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้


วันนี้ West Eden Gallery จึงนำ 5 เคล็ดลับจากผู้เชี่ยวชาญ ที่จะช่วยทำให้การเริ่มต้นซื้อผลงานศิลปะเป็นเรื่องง่ายและเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ ในการสะสมของทุกคน

 

เราไม่จำเป็นต้องเรียนจบจากคณะศิลปศาสตร์หรือเฉพาะทางศิลปะเพื่อเป็นนักสะสมที่ดี


การเริ่มต้นสะสมงานศิลปะอาจฟังดูเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงการเลือกซื้อผลงานหรือการทำความเข้าใจว่า “ศิลปะที่ดี” นั้นคืออะไร อย่างไรก็ตาม การเป็นนักสะสมที่ดีไม่จำเป็นต้องเรียนจบคณะศิลปศาสตร์หรือมีพื้นฐานเฉพาะทางด้านศิลปะ เพราะความรู้และความเข้าใจสามารถสร้างได้ด้วยแหล่งข้อมูลและโอกาสที่มีอยู่รอบตัวเราในยุคปัจจุบัน 

 

 

The Universe in Her Eyes, 2023

 

หากเราต้องการทำความเข้าใจในเรื่องของศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art) และค้นพบสไตล์ที่เหมาะกับเราเอง ปัจจุบันนี้มีคอร์สออนไลน์จากสถาบันชั้นนำ เช่น Art Explora และ Sotheby’s Institute of Art ที่มอบความรู้พื้นฐานในด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ รวมถึงการสำรวจวงการศิลปะร่วมสมัย หรือใครที่ต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับด้านงานศิลปะโดยเฉพาะ การจ้างที่ปรึกษาด้านศิลปะก็เป็นตัวเลือกที่ช่วยให้คุณค้นพบศิลปินหน้าใหม่ และเข้าใจกระแสที่เกิดขึ้นในตลาดศิลปะได้เช่นกัน 


อย่างไรก็ตาม การศึกษาเรื่องศิลปิะไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงเสมอไป เพราะในโลกปัจจุบันนี้ เราก็มีแพลตฟอร์มอย่าง Instagram ที่เป็นเหมือนพื้นที่ที่ทำให้เราได้เห็นผลงานใหม่ๆ อยู่เสมอ เพียงแค่เราติดตามบัญชีของแกลเลอรี่, สถาบันประมูล, พิพิธภัณฑ์ และสื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับศิลปะไว้ โดยสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงในวงการศิลปะร่วมสมัยได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่างานศิลปะกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางไหน รวมถึงทำให้เราได้รับข้อมูลเกี่ยวกับนิทรรศการและกิจกรรมที่น่าสนใจอยู่ตลอดเวลา


การเยี่ยมชมนิทรรศการศิลปะก็เป็นหนึ่งวิธีในการทำความเข้าใจศิลปะและค้นพบสไตล์ที่เข้ากับรสนิยมของเรา ในปัจจุบัน แกลเลอรีและสถาบันประมูลหลายแห่งเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าชมผลงานได้ฟรี ไม่ต่างจากพิพิธภัณฑ์ แถมการสำรวจงานศิลปะในบรรยากาศที่หลากหลายจะช่วยให้คุณมองเห็นเสน่ห์และคุณค่าของผลงานต่าง ๆ ได้ชัดเจนมากขึ้นอีกด้วย 

 

 
© Denver Art Museum
 

การเดินงานอาร์ตแฟร์ยังคงคุ้มค่า แม้ผลงานที่เราต้องการจะถูกขายไปแล้ว

 

งานอาร์ตแฟร์ (Art Fair) อาจดูท้าทายสำหรับนักสะสม เนื่องจากมีบูธมากมายให้เข้าชม ซึ่งบางงานมีนับสิบหรือหลายร้อยบูธ แถมยังมีกิจกรรมเสริม อย่างดินเนอร์หรือปาร์ตี้หลังงานที่อาจทำให้เหนื่อยได้เช่นกัน ในหลายกรณี ผลงานศิลปะในงานมักจะถูก “จองล่วงหน้า” โดยนักสะสมจะจับจองผลงานชิ้นเด่นๆ ในช่วงพรีวิวที่เปิดเฉพาะกลุ่มที่ได้รับเชิญให้เข้าชมก่อน ทั้งนี้แกลเลอรีสามารถทำยอดขายได้เนื่องจากมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับนักสะสมที่คอยสนับสนุนผลงานศิลปินมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม โอกาสสำหรับนักสะสมหน้าใหม่ในการเข้าถึงผลงานศิลปะก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลย


บางครั้ง แกลเลอรี่จะเตรียมผลงานสำรองมาจัดแสดงใน Art Fair เพื่อเพิ่มตัวเลือกสำหรับนักสะสมเมื่อชิ้นแรกๆ ถูกขายไปแล้ว ซึ่งการไปชมในวันที่สองของงานอาจเปิดโอกาสให้เราได้เห็นผลงานใหม่ที่นำเข้ามาเปลี่ยนแทนชิ้นที่ขายออกไป นอกจากนี้ ช่วงอาร์ตแฟร์ยังเป็นโอกาสที่เหล่า Gallerist สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าช่วงที่อยู่ประจำในแกลเลอรี่เสียอีก โดยเฉพาะแกลเลอรี่ขนาดใหญ่ที่มักจะส่งทีมงานจำนวนมากมา เพื่อให้สามารถตอบรับและติดต่อกับนักสะสมที่สนใจได้ทุกคน

 

 
© Art on Paper Amsterdam

 

Gallery waitlist มีอยู่จริง 


แกลเลอรี่ศิลปะไม่ได้ทำงานเหมือนร้านค้าทั่วไป ด้วยจำนวนผลงานที่มีจำกัดและความต้องการสูง เจ้าของแกลเลอรี่จึงมักใช้ “รายชื่อรอ” (Waitlist) เพื่อคัดสรรว่านักสะสมคนใดควรได้รับสิทธิ์ในการซื้อผลงาน กระบวนการนี้ช่วยสร้างความสมดุลระหว่างการดูแลศิลปินและการตอบสนองต่อความต้องการของนักสะสม


การอยู่ใน Waitlist ของแกลเลอรีอาจเป็นกระบวนการที่น่ารอคอยสำหรับใครบางคน เพราะนักสะสมไม่สามารถทราบได้เลยว่าตนเองอยู่ในลำดับที่เท่าใด และยังไม่สามารถควบคุมดุลยพินิจของเจ้าของแกลเลอรี่ได้อีกด้วย บางครั้งอาจต้องรอนานถึงสองปีหรือมากกว่า แต่การที่เราติดต่อกับแกลเลอรี่อย่างสม่ำเสมอและการแสดงความสนใจอย่างจริงใจสามารถเพิ่มโอกาสในการได้รับโอกาสซื้อผลงานที่ต้องการ

 

 
Cumulonimbus, 2023
 

หนึ่งในกลยุทธ์ที่ได้ผลสำหรับการเพิ่มโอกาสในการติดต่อกลับ นั่นคือการสนับสนุนศิลปินคนอื่น ๆ ในแกลเลอรี่เดียวกันที่อาจยังไม่มี Waitlist เพราะการซื้อผลงานเหล่านี้ไม่เพียงช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรากับแกลเลอรี แต่ยังแสดงถึงความจริงใจและความเข้าใจในแนวทางของแกลเลอรี่ อย่างไรก็ตาม การเลือกซื้อควรมาจากความชื่นชอบในผลงานอย่างแท้จริง เพื่อให้การสะสมของเรามีความหมายและสร้างความสุขแก่ผู้สะสมในระยะยาว


อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี รายชื่อรออาจเป็นเพียงการบอกเป็นนัยว่านักสะสมอาจไม่มีโอกาสได้ครอบครองผลงานของศิลปินคนนั้นเลย นี่คือวิธีสุภาพในการสื่อสารว่าโอกาสนั้นยากจะเป็นไปได้  แต่นักสะสมก็ยังสามารถใช้โอกาสนี้ในการสำรวจศิลปินคนอื่น ๆ และขยายมุมมองในวงการศิลปะ

 


Installation view of Yavuz Gallery's booth at Art SG, 2023
© Yavuz Gallery

 

แกลเลอรี่ไม่ได้มองหาเพียงแค่ศิลปินชื่อดังในคอลเลคชั่นของเรา


เมื่อแกลเลอรีพิจารณาขายผลงานให้กับนักสะสม พวกเขาไม่ได้มองเพียงว่าในคอลเลคชันของคุณมีชื่อศิลปินดังแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือการเห็นความตั้งใจและความรักในงานศิลปะที่แท้จริง แกลเลอรีมักมองหานักสะสมที่สามารถเป็น "บ้านที่ดี" สำหรับผลงานศิลปิน โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการหลีกเลี่ยงการนำผลงานไปขายต่อในตลาดประมูล


แกลเลอรีมักให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจรสนิยมและแนวทางในการสะสมของนักสะสม ตัวอย่างเช่น หากคุณสนใจงานแนว Minimalism หรือได้ติดตามผลงานของศิลปินคนใดคนหนึ่งมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้อาจเพิ่มโอกาสในการได้รับสิทธิ์ซื้อผลงานที่คุณต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผลงานดังกล่าวเป็นของศิลปินระดับแถวหน้า

 

 

Biedermeier sofa (19th century), portrait of Louis Marguerite van Loon by Thérèse Schwartze (1894), Juliette, Louis XV armchair (1750). Museum Van Loon (Netherlands), 2018

 

นักสะสมบางคนไม่ได้ยึดติดกับการสร้างคอลเลคชันที่มีธีมชัดเจน แต่เลือกซื้อผลงานที่มีความหมายต่อตัวเอง ตัวอย่างเช่น นักสะสมรายหนึ่งที่เริ่มต้นคอลเลคชันของเธอในช่วงปี 1990 ด้วยการซื้อภาพพอร์เทรตจาก Matthew Marks เพราะเธอรู้สึกประทับใจในตัวผลงาน ราคา และความน่าเชื่อถือของดีลเลอร์


ในท้ายที่สุด การสะสมศิลปะไม่ได้เกี่ยวกับการรวบรวมชื่อศิลปินชื่อดังเพียงอย่างเดียว แต่มุ่งเน้นไปที่การเลือกผลงานที่สร้างแรงบันดาลใจ เชื่อมโยงความรู้สึก และสะท้อนถึงตัวตนของนักสะสม ซึ่งไม่เพียงช่วยสร้างความสุข แต่ยังช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือในสายตาของแกลเลอรีอีกด้วย

Add a comment