ภาพจำของคนปกติที่มีต่อผลงานศิลปะมักเป็นอะไรที่สวยงาม ให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้เยี่ยมชม แต่บางครั้งผลงานศิลปะก็สามารถเป็นได้มากกว่าความสวยงาม เช่นเป็นบันทึกให้แก่สังคมว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง หรือเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นถึงความน่ากลัวและความตาย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์มักหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด เช่นเดียวกับสิ่งที่ปรากฎในผลงานของปานพรรณ ยอดมณี ศิลปินหญิงผู้ทำงานศิลปะซึ่งอยู่ระหว่างงานจิตรกรรมและประติมากรรม ที่มักจะหยิบเอาสิ่งของและวัสดุจากธรรมชาติมาใช้ในผลงานของตนเอง ผลงานของปานพรรณมักจะถ่ายทอดถึงความสนใจในหลักพุทธศาสนา รวมถึงหลักของจักรวาลวิทยาในเชิงพุทธ ที่เกี่ยวข้องกับความสูญเสีย ความทุกข์ และวัฏจักรแห่งความตาย
เช่นเดียวกับผลงานของปานพรรณที่จัดแสดงในนิทรรศการ Anthropocene ที่นำเสนอผลงานของศิลปินชาวไทย 3 ท่าน ได้แก่พรภพ สิทธิรักษ์, ประเสริฐ ยอดแก้ว และตัวปานพรรณเอง ในนิทรรศการครั้งนี้ ผ่านการร่วมมือกันระหว่าง 1PROJECTS และ West Eden ปานพรรณได้ถ่ายทอดความเป็น Anthropocene ในแบบความคิดของตนเอง ผ่านความเชื่อที่ว่าศิลปะของเธอเป็นเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างอดีตและปัจจุบัน สะท้อนความคิดและความรู้สึกของมนุษย์เมื่อเผชิญกับคำทำนายที่น่าหวาดกลัวจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ทั้งที่แท้จริงแล้ว ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันล้วนเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบกลับมาสู่มนุษย์ด้วยกันเอง
จุดเริ่มต้นของการเป็นศิลปินเริ่มจากอะไร?
ตั้งแต่เด็กๆ เราได้มีโอกาสไปเรียนศิลปะที่วัดตามน้องสาว ซึ่งนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราค้นพบตัวเองว่าเป็นคนที่ชอบงานศิลปะและทำออกมาได้ดี เราจึงเริ่มหาเงินจากตรงนั้น ตั้งแต่การวาดภาพ เพนท์ผนังโรงเรียน เขียนจิตรกรรมฝาผนังที่วัด และรับเขียนป้ายงานแต่งงาน อีกทั้งเรายังส่งผลงานเข้าประกวดอยู่เสมอ เมื่อได้เงินจากการประกวด ครอบครัวก็สนับสนุนเต็มที่ จนเราเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากร พอเข้ามาเรียนจึงได้รู้ว่าการเป็นศิลปินนั้นแตกต่างจากที่คิดไว้มากและไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิดไว้เลย
สำหรับความฝันที่อยากเป็นศิลปินนั้นเริ่มต้นมาจากการได้ศึกษาชีวประวัติและผลงานของศิลปินหลายๆ ท่าน ทำให้เกิดความฝันที่จะเป็นศิลปินตั้งแต่เด็กแล้ว
จุดเปลี่ยนของแนวทางผลงานที่ผสมผสานระหว่างศิลปะจัดวางกับจิตรกรรมคือช่วงไหน?
ในช่วงที่เราเรียนต่อปริญญาโท เราได้มีโอกาสร่วมงานกับอาจารย์อภินันท์ โปษยานนท์ ในนิทรรศการ มนต์เสน่ห์ไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการที่เราทำงานศิลปะจัดวาง (Installation Art) โดยผสมผสานเทคนิคการวาดภาพ (Painting) เข้ากับเทคนิคอื่นๆ จนกลายมาเป็นผลงานในสไตล์ของเรา เราจึงสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะรู้สึกว่าผลงานที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 16 เมตรนั้นสามารถถ่ายทอดพลังให้กับผู้ชมได้มากกว่าผลงานจิตรกรรมชิ้นเล็กๆ จากนั้นจึงได้รวมทีมและเริ่มทำงานในเทศกาลศิลปะต่างๆ เช่น Art Biennale หรือ APT 9
มีหลักการทำงานศิลปะจัดวางในแบบของตนเองอย่างไรบ้าง?
สำหรับการสร้างผลงานศิลปะจัดวาง เราจะต้องไปทํางานที่หน้างานนิทรรศการพร้อมกับทีมงานประมาณ 2-3 คน และสร้างงานให้เสร็จภายในเวลาที่ตกลงกับผู้จัดงาน โดยส่วนใหญ่แล้ว เวลาในการเตรียมงานจะอยู่ที่ประมาณ 20-30 วัน เราก็จะต้องทํางานให้เสร็จภายในเวลาที่กําหนด แต่งานบางชิ้นก็ต้องมีการรื้อถอนตามสัญญาที่ตกลงไว้ มันเลยทําให้เราต่างจากศิลปินท่านอื่นตรงที่ ศิลปินคนอื่นๆ อาจใช้เวลาเพียงแค่ 2 วันในการติดตั้งผลงาน แต่เราต้องไปสร้างผลงานจริงๆ ณ สถานที่จัดแสดงเลย
รู้สึกงานสไตล์งานของตนเองต่างจากช่วงเริ่มต้นของการทำงานไหม?
เรารู้สึกว่าสไตล์งานที่เรานำเสนอออกมามันไม่ค่อยต่างจากช่วงเริ่มต้นเท่าไหร่ แต่ฝีมือของเราก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทั้งโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้น ทําให้เราต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เช่น ขนาดของผลงาน สถานที่ที่ต้องใช้สร้างผลงาน การทํางานกับพื้นที่ที่ท้าทายกว่าเดิม เพราะพื้นที่แต่ละที่ก็ต่างกัน ทําให้ผลงานของเราต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอด
ผลงานส่วนมากได้รับแรงบันดาลใจมาจากอะไร?
ในผลงานของเรา เราจะเริ่มต้นจากการผูกเรื่องราวระหว่างอดีตและปัจจุบัน รวมถึงเทคนิควิธีการต่างๆ นํามาผสมผสานกัน เพราะเรามองเห็นตัวเองเป็นเหมือนผู้สังเกตการณ์ มองเห็นถึงความล่มสลายของโลก การเดินทางที่เหมือนจะเป็นจุดจบของโลก ยกตัวอย่างเหมือนตอนแรกที่เราสร้างผลงานเกี่ยวกับคําทำนาย เราก็เปรียบตัวเองให้เหมือนแม่หมอที่กำลังทํานายว่าโลกมันจะเกิดอะไรขึ้นในแบบของเรา
เรารู้สึกว่าถึงแม้ผลงานของเรามันจะดูเป็นเชิงอนุรักษ์นิยม แต่ก็ไม่ได้อนุรักษ์นิยมขนาดนั้น เป็นเพียงการนําเทคนิคเก่าและใหม่มาผสมผสานกันเท่านั้นเอง
แนะนำผลงานชุดนี้ที่จัดแสดงในนิทรรศการ “Anthropocene”
ในนิทรรศการ Anthropocene ชุดผลงานของเราได้มีการพูดถึงความล่มสลายของอารยธรรมที่เชื่อมโยงกับความเชื่อในสมัยโบราณ โดยเราหยิบเอาเจ้าแม่กาลี ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งความตายในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ มาเชื่อมโยงกับยุคสมัยปัจจุบันที่ผู้คนมักรู้สึกถึงความหวาดกลัวในเรื่องต่างๆ ผลงานของเราเลยออกมาในรูปแบบจิตรกรรมฝาผนังที่ดูแตกสลาย ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังมีบางสิ่งล่มสลายอยู่ด้านล่าง พร้อมกับใช้เทคนิคศิลปะจัดวางร่วมกับหินที่หาได้จากธรรมชาติ
สาเหตุที่เราเลือกใช้หินมาผสมผสานกับงานจิตรกรรมเพราะเราต้องการพูดถึงความเชื่อกับธรรมชาติ ที่สุดท้ายแล้ว เราทุกคนจะต้องอยู่กับธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นตัวกำเนิดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นศาสนาหรือมนุษย์
เห็นว่ามีความสนใจในเรื่องจักรวาลวิทยาและพระพุทธศาสนาด้วย
ใช่ เราสนใจในเรื่องที่ชาวพุทธจะเรียกว่าไตรภูมิพระร่วง และจักรวาลวิทยาเชิงพุทธ (Buddhist Cosmology) ซึ่งเป็นเหมือนจักรวาลวิทยาในมุมมองของพระพุทธศาสนาที่แสดงแผนที่ของโลกและจักรวาล สำหรับหนังสือไตรภูมิพระร่วง เนื้อเรื่องก็จะเป็นเหมือนการเล่านิทาน ซึ่งเราได้ศึกษาดูแล้วรู้สึกว่ามันสนุกและน่าสนใจเป็นอย่างมาก อย่างเช่นนิทานเกี่ยวกับปลาอานนท์ ที่เป็นความเชื่อว่าถ้าหากปลาอานนท์พลิกตัว โลกของเราจะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งเราได้ใช้สิ่งนี้มาเป็นแรงบันดาลใจพร้อมเอามาเปรียบเทียบกับโลกปัจจุบัน และเรารู้สึกว่าในทางพุทธศาสนา มันก็มีหลักวิทยาศาสตร์แฝงอยู่เช่นกัน เราจึงพยายามเอาทั้งสองสิ่งนี้มาใส่ในผลงานของตนเองพร้อมทำให้ทั้งคู่เชื่อมโยงเข้าหากัน
The Universe in Her Eyes, 2023
ทำไมถึงสนใจในเฟมินิสต์และถ่ายทอดออกมาในผลงานของตนเอง
เราเพิ่งสนใจที่จะสร้างผลงานที่แสดงถึงความเป็นเฟมินิสต์หลังจากที่เรามีลูกสาว เราเริ่มสนใจกับความเป็นแม่ ความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก รวมไปถึงบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงในอดีตที่มักจะถูกกดขี่ และด้วยความที่เราเป็นคนจากเอเชีย เรารู้สึกว่าเพศหญิงไม่ได้มีบทบาททางสังคมขนาดนั้น เราเลยเริ่มที่จะสนใจในเรื่องราวเหล่านี้ บวกกับความรู้สึกว่าศิลปินหญิงในตอนนี้ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เราเลยคิดว่าตนเองควรสร้างงานที่มีความเป็นเฟมินิสต์สักชิ้นนึง นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทําการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับเทวีต่างๆ ที่เป็นจุดกำเนิดของศาสนาในอดีต อย่างเช่นพระแม่กาลี เจ้าแม่คงคา และในอนาคตเราก็อยากลงลึกเกี่ยวกับงานที่แสดงถึงสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกเช่นกัน
ส่วนตัวคิดว่าคำทำนายและการกระทำของมนุษย์มีความเกี่ยวข้องกันไหม
ในความเห็นของเรา เรารู้สึกว่า ไม่ว่าจะเป็นคำทำนายหรือคำพยากรณ์ ทั้งที่มาจากหลักวิทยาศาสตร์หรือแม้แต่ศาสตร์อื่นๆ อย่างเช่น หมอดู สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อจิตใจและการกระทำของมนุษย์อยู่แล้ว และถึงเราจะไม่ได้ทำให้มันเชื่อมโยงกันด้วยตัวเราเอง แต่ไม่ว่าเราจะหันไปมองทิศทางไหน มันก็จะมีคนมาโยงเรื่องราวต่างๆ เข้ากับคำทำนายให้เราอยู่ดี แต่เราก็รู้สึกว่าเราสนใจกับปรากฎการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดในโลกของเรามากๆ เช่น วงแหวนแห่งไฟ หรือสึนามิ คือมันเป็นการเคลื่อนที่ของโลก และเราก็พยายามมองให้มันเป็นเรื่องธรรมดา
มีความคิดเห็นอย่างไรบ้างเมื่อมีผู้ชมบอกว่าผลงานของเรา “น่ากลัว”
เราเคยได้ยินผู้ชมบางท่านบอกว่างานของเราน่ากลัวเหมือนกัน แต่ถึงแม้ผลงานของเรามันอาจถูกมองว่ามันน่ากลัวหรือผิดปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับศิลปินท่านอื่นที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้ เรากลับมองว่าผลงานที่เราสร้างออกมามันได้พูดถึงความจริงมากกว่า เราอยากให้ทุกคนอยู่กับความจริงที่ว่ามนุษย์ทุกคนต้องพบกับความตาย ความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงอยากให้ทุกคนมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ ผลงานของเราก็เป็นเพียงรูปลักษณ์ที่เราสร้างขึ้นมาเท่านั้น ไม่ได้มีความน่ากลัวอะไร
ส่วนไหนในนิทรรศการนี้ที่คิดว่าท้าทายที่สุด
เราคิดว่าการนําผลงาน Goddesses in Everywoman มาจัดวางเป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุดสําหรับเรา เนื่องจากเราไม่เคยจัดวางลงบนพื้นขาวมาก่อน อาจเป็นเพราะการติดตั้งผลงานลงบนผนังสีขาวมันมีกลิ่นอายของความเป็นโมเดิร์นมากๆ และเรารู้สึกว่ามันห่างไกลเรามากจริงๆ อีกทั้งส่วนใหญ่เราจะสร้างผลงานจัดวางที่ผสมความเป็นนามธรรมมาตลอด เช่นการสาดสีลงไป ถมชิ้นสิ่งของต่างๆ ลงไปในชิ้นงาน โดยผลงานที่เรา ก็จะให้ความรู้สึกอึดอัด แต่พอมาชิ้นนี้ เราก็คิดว่าเราได้ไอเดียการทํางานมากขึ้น และเราคิดว่าผลงานชิ้นนี้จะทําให้เรากล้าทํางานแนวนี้มากขึ้น เราก็เลยคิดว่าชิ้นนี้พิเศษสําหรับเรามาก
มีวิธีการจัดการเวลาคิดงานไม่ออกอย่างไร
เวลาเราคิดงานไม่ออก เรามักจะออกไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ อย่างเช่นไปดูงานศิลปะ หรือออกไปสถานที่ธรรมชาติ เช่นเดินขึ้นเขา เพื่ออยู่กับธรรมชาติ อย่างก้อนหิน น้ำตก ต้นไม้ ภูเขา ดิน หญ้า มันก็ทําให้เราได้เห็นสัจธรรมต่างๆ ของชีวิตและทําให้เราได้คิดไตร่ตรองถึงเรื่องราวต่างๆ และเราคิดว่างานของเราจะออกมาเอง แต่เราจะพยายามแบ่งเวลากับการเล่นโซเชียลมีเดียด้วย เพราะเราคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะทําให้เราเริ่มออกไกลจากความจริง เราเลยพยายามสร้างสมดุลให้มันด้วยกันทั้งคู่ เราอยากอยู่กับตัวเองเยอะๆ อยู่กับน้ำ ฟังเสียงน้ำ ฟังเสียงธรรมชาติ มันก็จะทําให้เราคิดงานออกเอง
มีข้อแนะนำสำหรับศิลปินที่ยังหาสไตล์งานของตัวเองไม่เจอไหม
สำหรับเราแล้ว เรารู้สึกว่าการรีเสิร์ชหาข้อมูลมันเป็นสิ่งสำคัญมากในกรณีที่เรายังไม่รู้จักตัวเองดีพอ
เพราะถ้าหากเรายังไม่รู้จักตนเอง สิ่งนี้จะทำให้เราเดินไปข้างหน้าต่อยาก ไม่มั่นใจในตัวเอง หรืออาจจะทำแล้วก็หยุดกลางคันก็ได้ เราเป็นคนที่เชื่อว่าทุกเรื่องราวมันมีการเดินทาง การค้นหาตัวเองไปเรื่อยๆ จะเป็นเรื่องดีกับเราเอง เริ่มแรกเราอาจจะทำรีเสิร์ชเกี่ยวกับครอบครัวของตนเองก่อน
อย่างเช่นของครอบครัวเรา ที่บ้านจะนับถือศาสนาพุทธ แต่ว่าพอเราศึกษาเกี่ยวกับครอบครัวของเราลึกลงไปเรื่อยๆ ก็พบว่าที่บ้านของเรานับถือศาสนาอิสลามมาก่อน แถมอพยพมาจากจังหวัดอื่นด้วย บรรพบุรุษของเราเป็นอิสลามที่อาศัยอยู่บนเกาะสมุย แต่ทวดของเราลงเรือมาตั้งรกรากที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จนสุดท้ายมาพบทวดฝั่งหญิงของเราแล้วได้เปลี่ยนมาเป็นศาสนาพุทธ
เราก็มองว่าตัวเราเองเป็นเหมือนผลงาน In the Aftermath ที่มีการเดินทางของชีวิตของครอบครัวเรา สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนการตกตะกอนของการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน รวมไปถึงการเปลี่ยนศาสนาด้วยเหตุผลต่างๆ จนสุดท้ายก็ตกมาอยู่ที่เรา จากตรงนี้ เรามองว่าตนเองได้รับอิทธิพลจากเรื่องราวต่างๆ และได้นำความคิดเหล่านี้มาใส่ในผลงานของตนเอง เราเลยอยากแนะนำให้ทุกคนที่ยังไม่ค้นพบสไตล์งานของตนเอง ลองทำความรู้จักเกี่ยวกับตัวเอง ครอบครัว หรือบรรพบุรุษของเราก่อน เราอาจจะหยิกยกเพียงบางช่วงมาสร้างสรรค์ผลงานก็ได้ แล้วถ้าทุกคนสนุกกับเรื่องที่ตนเองสนใจ ทั้งการค้นคว้าและการทำงานจะไม่น่าเบื่อเลย อีกทั้งเราจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้เรื่อยๆ อีกด้วย
เรื่อง: เปมิกา สุยะราช
ภาพ: West Eden