Anthropocene นิทรรศการที่เกิดจากความมือระหว่าง West Eden และ 1PROJECTS นำเสนอผลงานของศิลปินสามท่านได้ ได้แก่ ปานพรรณ ยอดมณี, พรภพ สิทธิ์รักษ์, และประเสริฐ ยอดแก้ว ผ่านแนวคิดของยุคสมัยแอนโทรโปซีนที่สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบวงกว้างจากความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ที่วนกลับมาทำร้ายมนุษย์เฉกเช่นเดิม
พรภพ สิทธิ์รักษ์ หนึ่งในศิลปินชาวไทยที่ได้จัดแสดงผลงานในนิทรรศการนี้ ได้หยิกยก ‘เรื่องเล่า’ ขึ้นมาเป็นตัวละครหลักในการถ่ายทอดมุมมองต่อยุคสมัยแอนโทรโปซีน พร้อมกับความเห็นที่ว่า ความเชื่อ หรือเรื่องเล่าต่างๆ จะส่งผลโดยตรงและสะท้อนผลของการกระทำนั้นกลับมาสู่ตัวเราเอง
ทำงานอยู่ในวงการศิลปะนานหรือยัง?
ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าเป็นศิลปินมันไม่เหมือนกับการเข้าทำงานที่ออฟฟิศ ที่เมื่อเราเข้าทำงานแล้วเรียกว่าเป็นพนักงานเลย การเป็นศิลปินสำหรับผมมันเริ่มตั้งแต่ตอนเรียนจบ ผมรู้สึกได้ว่า “เราไม่อยากทำอย่างอื่น” หมายถึงว่าผมสามารถทำอย่างอื่นได้ แต่มันไม่มีความสุขเท่ากับการทำงานในวงการศิลปะ ผมรู้สึกว่าผมไม่เก่งอย่างอื่น ผมก็เลยพยายามทำให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในแวดวงนี้
หลังจากผมลาออกจากการเรียนต่อปริญญาโท ช่วงนั้นเป็นเวลาเดียวกับที่ผมได้เริ่มช่วยงานศิลปินหลายท่าน อย่างพี่ใหม่ อริญชย์ รุ่งแจ้ง หรือพี่โต๊ะ ปรัชญา พิณทอง จึงทำให้ผมได้มีโอกาสพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มันก็เลยทำให้ภาพของการเป็นศิลปิน ที่ในความคิดคนอื่นอาจจะจางไปแล้ว มันชัดเจนขึ้นในความคิดของผม เพราะผมเลือกเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในแวดวงนั้น และหลังจากนั้นผมก็ทำงานตลอด พูดง่ายๆ ก็คือผมทำงานศิลปะมาตั้งแต่เรียนจบในปี 2011
ส่วนมากผลงานเป็นสไตล์ไหน ?
ผมมองว่าวิธีการสร้างผลงานและกายภาพของตัวงานมีความแตกต่างกัน สำหรับวิธีการสร้างผลงาน ผมจะสร้างผลงานศิลปะที่เรียกว่า ศิลปะเชิงแนวคิด (Conceptual art) แต่ถ้าหมายถึงรูปแบบของการสร้างผลงาน ส่วนมากผมจะสร้างเป็นศิลปะประเภทจัดวาง และประติมากรรม ส่วนงานประเภทสองมิติก็มีบ้างประปราย
An Angel on the Top, 2022
ผลงานได้รับแรงบันดาลใจจากอะไรบ้าง
ถ้าเล่าให้ฟัง ผมเป็นเด็กที่อยู่ตรงกลางในหลายๆ เรื่องตั้งแต่ยังเด็ก พ่อของผมเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง สร้างวัด แม่เป็นพยาบาล เพราะฉะนั้นผมจะเกิดและใช้ชีวิตอยู่ในโรงพยาบาล แต่สิ่งแวดล้อมรอบตัวผมเป็นพื้นที่ที่เป็นชาวสวน และตอนเด็กก็อยู่ในโรงเรียนประจำที่นับถือศาสนาคริสต์ มันเลยทำให้ผมรู้สึกว่าผมไม่มีอะไรยึดโยงเลย อย่างเพื่อนบางคนดูอินกับเรื่องราวต่างๆ อินกับเรื่องศาสนา แต่ผมกลับคิดว่าผมเป็นอะไรกันแน่
จนผมได้เรียนในภาควิชาศิลปะไทย มันก็จำเป็นที่ผมต้องสร้างงานจากความคิด ผลงานก็ต้องย้อนกลับไปสู่ความเป็นตัวตนของผมอีก ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าผมเป็นอะไรอยู่ อาจารย์ก็แนะนำให้ผมค้นหาเรื่องราวของครอบครัวอีกครั้ง จนผมรู้สึกว่า ไม่เอาแล้ว ผมไม่อยากเน้นไปที่เรื่องนี้แล้ว แต่ผมกลับสนใจว่า “ทั้งหมดมันเกิดจากอะไรมากกว่า” เช่น ความเชื่อของอาจารย์ที่เชื่อว่าศิลปินต้องกลับไปค้นหาตนเองจากต้นกำเนิด เพราะฉะนั้นผมจะมองไปยังโครงสร้างของการสร้างสิ่งนั้นขึ้นมา
มันเลยทำให้ผมเป็นคนที่ดูตั้งคำถามกับทุกอย่าง ช่างคิด และด้วยความที่ผมไม่ค่อยเชื่อในสิ่งต่างๆ มันก็จะไม่มีสิ่งใดในการเหนี่ยวรั้งผมไว้ เวลาผมเกิดคำถามเรื่องอะไร ผมก็จะสำรวจเข้าไปในสิ่งนั้นทั้งหมด โดยผมจะมองมันว่ามันเกิดขึ้นมาได้ยังไง และสามารถทำให้คนเชื่อได้ยังไง
แปลว่าคุณพรภพชอบมองสิ่งต่างๆ จากด้านนอก ไม่ใช่จากความคิดของตนเอง
ใช่ ส่วนมากผมมักจะเกิดคำถามก่อนว่า “ทำไม” อยู่เสมอ เช่น ทำไมถึงต้องไทย ทำไมถึงต้องเคารพในวัฒนธรรม ทำไมมนุษย์เห็นควันไฟและรู้ว่ามีไฟไหม้ ทั้งๆ ที่ผมไม่เห็นตัวไฟ
ซึ่งตอนแรกคำถามเหล่านี้มันไม่ได้เป็นคำถามเพื่อนำไปสู่การเป็นศิลปินหรอก แต่คือมันคือคำถามในสาระที่ว่าผมอยากเป็นใครสักคนเหมือนคนอื่นเขาบ้าง ผมเลยเริ่มสงสัยและตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ จนท้ายที่สุดมันก็เริ่มปรากฎชัดขึ้นในงานของผมเอง อย่างไรก็ตาม ผมก็มองว่าความคิดแบบนี้มันอาจจะไม่ได้เป็นประโยชน์กับคนอื่น อาจมีคุณค่ากับผมแค่คนเดียว ผมเลยต้องนำสิ่งนี้มาสร้างเป็นงานศิลปะ เพื่อบันทึกความรู้สึกนึกคิดของผมไว้ และส่งต่อให้แก่คนดู
An Elephant on the Top, 2022
แนะนำผลงานชุดนี้ที่จัดแสดงในนิทรรศการ Anthropocene
ผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้เป็นงานสเก๊ตช์ที่ผมสร้างมาตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา และตอนนั้นมันจะเป็นการมองสิ่งรอบตัวของผม ทั้งเหตุการณ์การเมือง สภาพเศรษฐกิจ รวมไปถึงเรื่องของโควิด-19 ที่เกิดการระบาด ทีนี้พอโปรเจ็กต์นี้เข้ามาด้วยหัวข้อ Anthropocene ผมก็กลับไปมองในตอนนั้นที่มันเกิดผลกระทบกับตัวผม แต่ผมไม่ได้คิดถึงเรื่องของ Anthropocene ขนาดนั้น เพราะตอนนั้นมันเป็นเรื่องของเหตุการณ์จริงๆ และผมรู้สึกว่าเหตุการณ์นี้ที่มันกลับเข้ามาหาผม มันมีข้อความอะไรบางอย่างที่ทำให้สงสัยว่า “มันเกิดอะไรขึ้น” อย่างเช่นเรื่องของ ธรรมชาติหรือภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน ซึ่งในส่วนตัวของผม ผมรู้สึกว่าศิลปะมันบันทึกเหตุการณ์อยู่แล้ว และถ้าเหตุการณ์มันเข้ามาหาตัวเราและมนุษย์ แน่นอนว่ามันอยู่ในนิเวศของความเป็น Anthropocene อย่างแน่นอน
In the Name of White Crow, 2019
เห็นว่ามีการเขียนผนังในนิทรรศการนี้ด้วย
ข้อความที่ผมได้เขียนเชื่อมระหว่างผลงานแต่ละชิ้นในนิทรรศการนั้น ผมหยิบยกมาจากบทกวีเรื่อง The Hollow Men ซึ่งแต่งโดย T.S. Eliot หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในช่วงเวลานั้น มนุษยชาติยังไม่เคยประสบกับความโหดร้ายและความสูญเสียอันมหาศาลจากสงครามในระดับนี้มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่เข้าร่วมสงครามอย่างอังกฤษ ที่ได้เผชิญกับความตกต่ำทางเศรษฐกิจ และการสูญเสียชีวิตอย่างมากมาย บทกวีนี้จึงเปรียบเสมือนการกล่าวถึงผลกระทบอันเลวร้ายที่มนุษย์ได้ก่อไว้กับตนเอง
ในบรรดาผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการ Anthropocene ผลงานของผมอาจดูเหมือนเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว บทกวีที่หยิบยกขึ้นมานั้นสะท้อนถึงสัจธรรมอันโหดร้ายที่ว่า มนุษย์ตกเป็นเหยื่อของสิ่งที่ตนเองสร้างขึ้น มนุษย์มักสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากสิ่งที่ตนสร้างไว้ก่อนหน้านี้ แต่สุดท้ายแล้ว วัฏจักรนี้ก็วนเวียนซ้ำไปซ้ำมา โดยที่มนุษย์ยังคงคาดหวังให้มีสิ่งที่ดีกว่าอยู่เสมอ แต่สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือคำพร่ำเพ้อถึงการกระทำของเราในอดีต ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจอันเจ็บปวดถึงความไม่สมบูรณ์แบบและความล้มเหลวของเรา
คุณพรภพมองว่าผลงานศิลปะที่ตนเองสร้างสรรค์ขึ้นมานั้นเป็นเหมือนภาพสะท้อนอนาคตของมนุษย์ไหม
ถ้าเกี่ยวกับอนาคต อันนี้ผมไม่สามารถตอบได้ แต่ในความคิดของผม งานศิลปะมักจะปรากฏขึ้นพร้อมกับบันทึกเหตุการณ์ที่อยู่รอบๆ ตัวมันเอง สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกิดจากความจำเป็นของเหตุการณ์ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับงานศิลปะ งานศิลปะที่ศิลปินสร้างขึ้นในวันนี้ไม่สามารถเป็นความจริงได้ทั้งหมด เพราะผมไม่เชื่อว่ามีความจริงที่แท้จริง มีเพียงมุมมองและการเลือกที่จะเชื่อในมุมมองบางอย่าง หรือเลือกที่จะมองว่าบางสิ่งบางอย่างสะท้อนอยู่ในประวัติศาสตร์เท่านั้น
สิ่งที่บันทึกผ่านงานศิลปะมักจะเป็นเรื่องที่อยู่รอบเหตุการณ์นั้นๆ ดังนั้นผมมักคิดว่างานศิลปะเป็นเรื่องของการบันทึก แต่การจดจำและการเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้นให้กลายเป็นสิ่งอื่นไม่ใช่สิ่งที่ศิลปินสามารถทำได้ ศิลปินมีขอบเขตเพียงแค่การสร้างสรรค์และนำเสนอผลงาน ส่วนความเชื่อและการยอมรับนั้นเป็นเรื่องของโลก และมันอยู่นอกเหนือขอบเขตของศิลปิน
The Burning of White Crow , 2022
เคยหมดแรงบันดาลใจบ้างไหม และจัดการยังไง
ผมเบิร์นเอาท์ทุกวัน เพราะผมไม่มีเวลาของการทำงานที่แน่นอน ถ้าผมคิดงานไม่ออก ผมก็จะอยู่เฉยๆ ทำกับข้าว เลี้ยงสุนัข อ่านหนังสือ เพราะถ้าเราเชื่อว่าโลกเป็นทะเลของข้อมูล การที่ฟังเสียงของทะเล สักพักมันก็จะเล่าเองว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง ขึ้นอยู่กับเราว่าจะหยิบมาสร้างเป็นผลงานศิลปะไหม
มีข้อแนะนำสำหรับศิลปินรุ่นใหม่ที่ยังค้นหาแรงบันดาลใจไม่เจออย่างไร
ผมอยากจะบอกกับคนรุ่นใหม่และศิลปินรุ่นใหม่ว่า คุณกำลังเติบโตมาพร้อมกับโอกาส คุณมีโอกาสที่จะรับรู้อะไรหลายๆ อย่างตั้งแต่ยังเด็ก เทียบกับผมในสมัยเรียนแล้ว หากผมต้องการจัดแสดงผลงานที่ใดก็ตาม ศิลปินต้องเตรียมพอร์ตโฟลิโอเป็นเล่มเพื่อนำไปเสนอให้กับแต่ละสถานที่ และหากต้องการจัดแสดงในต่างประเทศ ก็ต้องนำแผ่นพับผลงานของตนเองไปจัดแสดงที่แกลเลอรี ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก
แต่ในปัจจุบัน สิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว เพราะว่าศิลปินสามารถสร้างสรรค์ผลงานและโพสต์ลงบนโซเชียลมีเดียได้ทันที แกลเลอรีในต่างประเทศก็สามารถรับชมผลงานของศิลปินได้โดยตรง ผมมองว่าโลกในปัจจุบันของเราเป็นแบบนี้ และสิ่งเดียวที่จะหยุดยั้งศิลปินได้ก็คือการที่ศิลปินเลือกที่จะไม่ลงมือทำ เพราะฉะนั้นผมอยากให้ทุกคนลงมือทำในสิ่งที่ตนเองตั้งเป้าไว้ มีความมั่นในใจตัวเอง และอย่าให้ข้อจำกัดใดๆ มาหยุดยั้งคุณ
เรื่อง: เปมิกา สุยะราช
ภาพ: West Eden Gallery